หลวงปู่บุญ  วัดกลางบางแก้ว                    
เกจิขลังพระเวทลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี

LINE it!

     หากมองหาพระเครื่องที่เต็มเปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์  ที่มีดีทั้งนอกและในนั้นขอแนะนำพระเครื่องของหลวงปู่บุญ   วัดกลางบางแก้ว  จังหวัดนครปฐม  ผู้ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์รุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี  ทั้งนี้เพราะท่านมีญาณสมาบัติระดับสูง รอบรู้ในสรรพวิชาหลายอย่างทั้ง เวทมนต์คาถาอาคม ที่ต่างยอมรับว่าแก่กล้าไม่เป็นรองใคร  

     เมื่อเป็นเช่นนั้นหลวงปู่บุญ จึงถูกจัดอันดับอยู่ในยอดพระเกจิอาจารย์  ผู้เข้มขลังทางพระเวท ที่มีตบะสมาธิและวิถีแห่งญาณแก่กล้า  จนเป็นที่ยอมรับยกย่องของพระคณาจารย์ร่วมยุคร่วมสมัยหลายรูป อาทิเช่น สมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศน์เทพวราราม   หลวงพ่อทับ วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) คลองบางกอกน้อย หรือแม้แต่หลวงปู่นาค   วัดห้วยจระเข้และอีกหลายๆ รูป



      สำหรับประวัติของหลวงปู่บุญนั้น  ท่านชาตะเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2391  ณ. บ้านตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร (ในครั้ง นั้นยังเป็นตำบลบ้านนางสาว อ.ตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี  ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นบ้านท่าไม้ อ.สามพราน จ.นครปฐม แต่ปัจจุบันนี้ ต.ท่าไม้ ได้โอนไปขึ้นกับ อ.กระทุ่มแบน จ.สุมทรสาคร)   โยมบิดาของหลวงปู่มีนามว่า "เส็ง" โยมมารดามีนามว่า "ลิ้ม" ท่านมี พี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๖ คน โดยตัวท่านเป็นคนหัวปี มีลำดับดังนี้ 1.พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ) 2.นางเอม 3. นางบาง 4.นางจัน 5. นายปาน  6. นายคง  ส่วนเหตุผลที่ท่านมีนามว่า "บุญ"  นั้นเพระาว่าเมื่อวัยทารก ท่านมีอาการป่วยหนักถึงแก่สลบไป และไม่หายใจ ในที่สุดบิดามารดาและญาติ เมื่อเห็นว่าท่านตายเสียแล้วจึงจัดแจงจะเอาท่านไปฝัง แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้ฝังท่านก็กลับฟื้นขึ้นมา จึงทำให้บิดามารดาได้ถือเอาเหตุนี้ตั้งชื่อให้แก่ท่านว่า "บุญ"

พระพิมพ์นางสมาธิเล็กเนื้อดินเผา 
การศึกษาและบรรพชา
 
            เมื่อครั้งที่หลวงปู่บุญ ยังอยู่ในวัยเยาว์นั้น โยมทั้งสองได้ย้ายภูมิลำเนามาทำนาที่ตำบลบางช้าง อ.สามพราน  เมื่อท่านอายุได้ 13 ปี โยมบิดาได้ถึงแก่กรรม โยมป้าของท่านจุงนำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระปลัด ทอง ณ วัดกลาง ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า "วัดคงคาราม" ต.ปากน้ำ (ปากคลองบางแก้ว) อ.นครชัยศรี เมื่อท่าน อายุได้ 15  ปีเต็มพระปลัดทองจึงทำการบรรพชาให้เป็นสามเณรและได้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้  เมื่อครั้งนั้นท่านได้รับใช้อย่างใกล้ชิดจึงทำให้เป็นที่รักใคร่ของพระปลัดทอง แต่เมื่อมีอายุได้ใกล้อุปสมบท ท่านมีความจำเป็นต้องลาสิกขาเนื่องด้วยความป่วยไข้เบียดเบียน

         หลวงปู่บุญ อุปสมบทเมื่ออายุได้ 22 ปี ณ พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พุทธศักราช 2412ในท่ามกลาง ที่ประชุมสงฆ์ 30 รูป โดยมีพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดพิไทยทาราม (วัดตุ๊กตา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระ ปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐานราม และพระอธิการจับ เจ้าอาวาสวัดท่ามอญร่วมกันให้สรณาคมณ์กับศีลและสวดกรรมวาจา อนึ่งการที่มีพระอาจารย์ร่วมพิธีถึง 4 รูปเช่นนี้ก็เพราะพระเถระเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือ ของผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้า ภาพอุปสมบทแล้วพระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาให้ว่า "ขนฺธโชติ" แล้วให้จำพรรษาอยู่กับพระปลัดทอง ที่วัดกลางบางแก้ว

                                                             
พระพิมพ์เศียร์โล้น

การศึกษาทางปริยัติและปฏิบัติ

     หลวงปู่บุญ ถูกว่างพื้นฐานในทางธรรมมาอย่างดีแล้วตั้งแต่เป็นเด็กวัดและสามเณร ซึ่งช่วงระยะเวลา ดังกล่าวประมาณ ๕-๖ ปี ที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระปลัดทอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพื้นฐานในทางธรรม ของท่านถูกถ่ายทอดมาโดยพระปลัดทองทั้งสิ้น อาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่านก็คือพระปลัดปาน เจ้าอาวาส วัดตุ๊กตา ซึ่งจากปากคำของพระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) บางกอกน้อย  เคยกล่าวไว้ว่าหลวงปู่บุญได้เล่าเรียนกรรมฐานและอาคมกับท่านปลัดปาน อันที่จริงนั้นอาจารย์ที่ถ่ายทอด วิชาความรู้ทางธรรม ทั้งปริยัติและปฏิบัติตลอดจนพระเวท และพุทธาคมให้แก่ท่านยังมีอีกหลายรูป 

       แม้ว่าหลวงปู่บุญ จะเป็นผู้เฒ่าที่ใจดี แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนเกรงกลัวกันมาก กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจ ในตัว กอปรด้วยท่านเป็นคนพูดน้อย มีแววตากล้าแข็ง จึงไม่ว่าใครๆ ต่างก็พากันเกรงขามท่านกันทั้งนั้น  ใครก็ตามที่มีธุระทุกข์ร้อนมาหาท่าน ท่านก็จะรับเป็นภาระช่วยบำบัดปัดเป่าทุกข์ภัยนั้น ให้ด้วยความเมตตา กรุณาโดยทั่วหน้ากัน บางคนมาขอฤกษ์ หรือมาให้ท่านทำนายเกณฑ์ชะตา และถ้าใครที่ประสพเคราะห์กรรมต่างๆ ก็มักจะมาขอให้ท่านรดน้ำพุทธมนต์ให้ หรือมาขอยารักษาโรค

     ครั้นเมื่อท่านจัดการให้เรียบร้อยแล้ว ก็จะนั่งนิ่งๆ ไม่พูดจาว่าอะไรอีก จากนั้นก็จะทำงานของท่านต่อไป  โดยปรกติแล้วในวันหนึ่งๆ หลวงปู่หาเวลาว่างจริงๆ ได้ยาก เพราะท่านทำงานตลอดเวลา เว้นแต่เวลาฉัน  หรือเวลาจำวัดเท่านั้น   สำหรับบุคลิกพิเศษของหลวงปู่อีกประการหนึ่งทำให้คนเกรงขามก็คือ แววนัยน์ตาอันแข็งกร้าวอย่างมีอำนาจของท่าน ทุกครั้งที่ท่านพูดกับใครนัยน์ตาคู่นี้จะจับต้องนัยน์ตาของผู้นั้นแน่นิ่งอยู่ตลอดเวลา นัยน์ตา ที่ทรง พลังอำนาจเช่นนี้อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลย แม้ขุนโจรใจโหดก็จะไม่กล้าสู่นัยน์ตาท่านได้

พระชัยวัฒน์ขี้นกเขาเปล้าปี 2456

         ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471เป็นต้นมา หลวงปู่บุญได้รับพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่พระพุทธวิถี นายกนั้น ขณะนั้นท่านมีอายุได้ 81 ปีแล้ว แต่งานบริหารกิจการสงฆ์ ทั้งจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีก็ได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยและกิจการศาสนาในด้านต่างๆ  จากนั้นท่านต้องทนปฏิบัติงานต่อไปจนถึง พ.ศ. 2474 อายุ 84 ปี ทางการคณะสงฆ์จึงเห็นเป็นการสมควรให้พักผ่อนเสียที ต่อมาท่านได้มรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2478 เวลา ๑๐.๔๕ น. โดยโรคคาพาธ ณ กุฏิของท่าน สิริรวมอายุท่านโดยปีได้ 89 พรรษา 67

     ด้วยความเชี่ยวชาญเข้มขลังในพระเวททำให้พระเครื่องและวัตถุมงคล ที่สร้างขึ้นมามีเกียรติคุณชื่อเสียงขจรขจาย เป็นที่เสาะแสวงหาของคนรุ่นปู่รุ่นทวดลงมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ด้วยวัตถุมงคลของหลวงปู่บุญมีหลายรุ่นและมากด้วยประสบการณ์ จึงทำให้หลายคนอยากจะรู้ว่าครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดพระเวท และพุทธาคมให้กับหลวงปู่นั้นมีท่านใดบ้าง  



     สำหรับอาจารย์ของหลวงปู่บุญนั้นเริ่มต้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ รูป คือ พระปลัดทองและพระอธิการปาน มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้  ยกเว้นวิชาการสร้าง "เบี้ยแก้" เท่าที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ออกมาว่าน่าจะเรียนรู้มาจากหลวงปู่รอด  วัดนายโรง  และที่ยกเอาเรื่องเบี้ยแก้ขึ้นมาพูดถึงก่อนเพราะเหตุว่าในกระบวนเครื่องรางของขลังที่หลวงปู่บุญสร้างไว้ จะเห็นว่าเบี้ยแก้ของท่านจัดอยู่ในอันดับยอดเครื่องรางที่ทุกคนต่างก็ปรารถนาจะได้ไว้ในครอบครอง      


     ในการสร้างเบี้ยแก้นั้นเริ่มจากจะต้องหาตัวเบี้ยที่มี 32 ฟันตามตำรา จากนั้นพระอาจารย์ผู้สร้างก็บรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้าไปในตัวเบี้ย แล้วหาวิธีอุดมิให้ปรอทไหลออกมาได้  ซึ่งเป็นปรอทดินโบราณ  โดยคณาจารย์ผู้สร้างจำต้องมีพระเวทเข้มขลัง เพราะต้องใช้พระเวทฆ่าปรอทหรือบังคับให้ปรอทรวมตัวกันอยู่ในเบี้ย ที่สำคัญในการสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญท่านบริกรรมพระเวทที่เข้มขลังเรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ยได้เอง  


                                                          เบี้ยแก้แบบถักเชือกเป็นที่นิยม 

     ส่วนการปิดปากเบี้ยนั้นจะใช้ชันโรงใต้ดิน ที่ปลุกเสกแล้วมาอุดใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มด้วยผ้าแดง แผ่นตะกั่ว  แผ่นทองแดง วัสดุที่ใช้หุ้มหรือปิดนี้ก็ต้องลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกกำกับด้วย นอกจากนี้เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ  วัดกลางบางแก้วจะมีอยู่หลายแบบทั้งแบบเชือกถักหุ้ม ซึ่งจะมีลวดทองแดงขดเป็นห่วง ๓ ห่วง เพื่อให้ใช้เชือกคล้องคาดเอว และเบี้ยแก้แบบเปลือย  สำหรับอุปเท่ห์ในการใช้มีมากมายหลายอย่าง อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ที่สำคัญทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไร ป้องกันคุณไสยมนต์ดำอวิชา คุณคน ป้องกันภูติผีปีศาจ ยาเบื่อ ยาเมา ทั้งหลายรวมไปถึงป้องกันแมลงมีพิษได้

 


                                                            เบี้ยแก้แบบเปลือยมีรอยจาร 

      สำหรับพระเครื่องและวัตถุมงคล หลวงปู่บุญท่านสร้างขึ้นมาหลายอย่าง และการสร้างในสมัยนั้น มิได้สร้างเพื่อเรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด ท่านแจกให้แก่ชาวบ้านญาติโยมไปฟรีๆ เฉพาะผู้ที่อยากจะได้ ในการสร้างพระเครื่องรางและวัตถุมงคลครั้งแรก หรือยุคแรกของท่านนั้น มีหลักฐานบันทึกไว้ในสมัยนั้นว่ามีเพียง พระยาหอม ที่เรียกในสมัยนี้ว่า พระผงยาจินดามณี และ เบี้ยแก้ ทั้งสองอย่างนี้ได้สร้างชื่อเสียงของท่านให้โดดเด่น และโด่งดังขึ้นมาตามลำดับ
     
      ส่วนพระเครื่องรางของขลังยุคหลังรุ่นแรกๆ จะพบในกรุพระของท่าน ซึ่งบรรจุใส่ไว้ใน ๒๒ บาตรในมณฑป ซึ่งมักจะสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ เนื้อว่าน เนื้อว่านผสมรักดำ และพระเนื้อดินเผา  เท่าที่มีผู้ค้นคว้าไว้แล้ว โดยเฉพาะที่โดดเด่นและโด่งดังตั้งแต่ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เนื้อนวโลหะก็มี  โดยเฉพาะพระช่อชัยวัฒน์พิมพ์ทรงชะลูด และพระช่อชัยวัฒน์ทรงป้อม กับพระช่อชัยวัฒน์พิมพ์บัวคว่ำบัวหงาย  และเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่บุญ
     
      ขณะเดียวกันพระเนื้อว่านหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ไม่ว่าจะเป็นพระนั่งสมาธิเพชร, พระนั่งสมาธิเพชรทรงโค้ง, พระนั่งสมาธิเพชรทรงสามเหลี่ยม พร้อมก้บพระเนื้อว่านผสมรักดำ ที่นิยมบูชากันก็มี พระเศียรโล้นสะดุ้งกลับ, พระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่-เล็ก, พระพิมพ์นาคปรกเล็ก และพระพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว  รวมถึงพระเครื่องเนื้อดินเผา เช่น พระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ, พระพิมพ์บัวใหญ่-เล็ก, พระพิมพ์ปางนาคปรก และยังมีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ก็คงต้องค่อยศึกษากันไป


เหรียญเจ้าสัวเนื้อเงินรุ่นแรก

      สำหรับพระประเภทเหรียญที่มีชื่อเสียงอย่างมากเห็นจะเป็นเหรียญเจ้าสัวรุ่นแรก ซึ่งได้สร้างเมื่อ พ.ศ.2477 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๗ รอบของหลวงปู่บุญ โดยแจกเฉพาะผู้ร่วมบริจาคปัจจัยจำนวนมาก ไม่ได้แจกทุกคนที่มาร่วมงานในครั้งนั้นด้วยเหตุที่ผู้ได้รับแจกส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีฐานะมีอันจะกิน หรือบริจาคปัจจัยจำนวนมาก ในการบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัด ทำให้ชาวบ้านเรียกเหรียญนี้ว่า...เจ้าสัว 

      ในการสร้างเหรียญเจ้าสัวของหลวงปู่บุญนั้น มีทั้งที่มีหูในตัวและไม่มีหูในตัวโดยจะมาเชื่อมติดทีหลัง ส่วนมากจะมีจารอักขระตัว เฑาะว์มหาอุด ซึ่งหลวงปู่เพิ่มจารเอาไว้ ในช่วงที่นำให้เช่าบูชา เมื่อคราว พ.ศ.2516 ส่วนที่แจกไปเมื่อครั้งหลวงปู่บุญนั้นมักจะไม่มีรอยเหล็กจาร แต่ถ้ามีจารจะจารว่า  ภควา อันหมายถึงเอกลักษณ์แห่งโชคลาภนั่นเอง ซึ่งพบว่ามีเป็นส่วนน้อยมาก  สำหรับพุทธคุณนั้นเด่นทางด้านโชคลาภ ทำมาค้าขาย และทางด้านแคล้วคลาดอีกด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่ห้อยบูชาเหรียญเจ้าสัวแล้วทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยทุกคน จึงได้รับสมญานามว่าเหรียญเจ้าสัว

เหรียญเจ้าสัวเนื้อทองแดงรุ่นแรก

      ส่วนพระเครื่องต่าง ๆ ที่ท่านสร้างขึ้นมานั้นก็ได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน  โดยเฉพาะพระที่สร้างผงยาจินดามณี ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นสูตรการสร้างวัตถุมงคล ที่ส่งให้ชื่อเสียงของวัดกลางบางแก้ว โดยเฉพาะหลวงปู่บุญโด่งดังขจรขจาย อุปเท่ห์การใช้ยาจินดามณีนั้นมีคุณครอบจักรวาล โดยสามารถฉุดกระชากจิตวิญญาณที่ใกล้จะดับสูญ ให้กลับฟื้นคืนสติขึ้นมาสั่งเสียข้อความต่างๆแก่ญาติโยมได้ 

     ในเรื่องของสูตรการสร้างยาจินดามณีนี้ เป็นของเก่าแก่ดั่งเดิมสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งหลวงปู่บุญนั้นท่านก็ได้รับสืบต่อมาจากพระปลัดทอง ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านกรรมวิธีการสร้างนั้น ประกอบด้วยพิธีกรรมและเครื่องยา  ซึ่งกว่าจะทำออกมาได้นั้นยุ่งยากมาก  แม้แต่ผู้ร่วมพิธีปั้นเม็ดยา กับกดพิมพ์พระจะต้องภาวนาพระคาถาไปด้วย ไม่ว่าเม็ดยา หรือพระพิมพ์ที่ปั๊มและกดเสร็จแล้วจะต้องนำไปปลุกเสกด้วยมนต์ขลังอีกอย่างน้อย 7 เสาร์ 7อังคาร 

พระพิมพ์สมาธิเนื้อผงจินดามณี

     สำหรับการสร้างยาจินดามณีนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ยาวาสนา" ซึ่งมิใช่มีเฉพาะตำหรับของวัดกลางบางแก้วเท่านั้น วัดอื่นก็มีสร้างกัน เช่น วัดปากครองบางครก อ.บ้านแหลม จ. เพชรบุรี ก็มีการสร้างในสมัยของหลวงพ่อโศก (พระครูอโศกธรรมสาร) เกจิอาจารย์ผู้พระเรืองนาม ในการสร้างปลัดขิก พระขรรค์และผ้ายันต์ราชสีห์เส้นคู่ ตำหรับการสร้างผงยาจินดามณีของวัดปากคลองบางครกนี้ ก็มีกรรมวิธีการสร้างและ     

พระพิมพ์หนังตะลุงเนื้อผงยาจินดามณี

      ทางด้านสรรพคุณของยาวาสนาจินดามณี  ตำรับวัดกลางบางแก้วนั้น   ใครได้รับประทานยาจินดามณีแล้วจะบันดาลให้เกิดศิริสวัสดีและลาภผล หากบูชาเอาไว้จะป้องกัน  และรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ แม้แต่อหิวาตกโรคผู้ใดมีไว้จะปราศจากอันตรายใดๆ ในทุกอิริยาบถ   และผู้ใดต้องโทษทัณฑ์ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้ ผู้ใดป่วยหนักแม้แทบจะสิ้นชีวิต หากได้รับประทานอาจินดามณีแล้ว ก็จักรอดตายฟื้นหายจากโรคนั้น
พระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่เนื้อดินเผา

    มาถึงพระเนื้อดินเผาที่ขึ้นชื่อของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว คือ พระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่ เนื้อดินเผา  เป็นอีกพิมพ์หนึ่งซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบันนี้ มีของปลอม ออกมาทำให้วงการปั่นป่วนพอสมควร ทั้งนี้เพราะเป็นพิมพ์ที่มีจำนวนมากกว่าพิมพ์อื่นๆ และได้รับความนิยมกันไม่น้อย   ในสมัยก่อนเวลาทำบุญงานปีของทางวัดกลางบางแก้วใครที่ไปร่วมงานก็จะได้รับแจกพระเครื่องจากหลวงปู่บุญไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่ เนื้อดินเผา รวมทั้งพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงปู่บุญพิมพ์อื่นๆสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2456 นับเป็นพระเครื่องชุดแรกๆ ที่หลวงปู่สร้างขึ้น ขณะที่มีอายุราว 65 ปี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว และเป็นเจ้าคณะหมวดปกครอง คณะสงฆ์แล้ว 

     และในการสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาในปีดังกล่าวนั้น  ได้รับคำยืนยันจากหลวงปู่เพิ่ม ซึ่งระหว่างนั้นบวชได้ราว 7-8 พรรษา ได้ช่วยสร้างพระเครื่องเนื้อดินดังกล่าวโดยเป็นคนกรองดินจากตุ่มหมักดิน และเมื่อนำมาประกอบพิจารณาจากบาตรดินเผา ซึ่งมีเนื้อดินเหมือนเนื้อพระทุกประการ และใช้บรรจุพระเครื่องไว้ในเพดานมณฑป โดยที่บาตรดินดังกล่าวนั้นได้เขียนไว้ว่าพ.ศ.2456. จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าพระเครื่องเนื้อดินของหลวงปู่บุญสร้างในปี พ.ศ.2456 ซึ่งนับถึงปัจจุบันอายุพระเนื้อดินของหลวงปู่บุญได้ 95 ปีแล้ว นับว่ามีอายุการสร้างมานานเกือบร้อยปี  

พระพิมพ์ซุ้มแหลมใหญ่เนื้อดินเผา

     ในด้านมวลสารของพระเครื่องนั้น ได้ไปเอาดินเหนียว จากริมตลิ่งแม่น้ำนครชัยศรีขึ้นมาส่วนหนึ่ง พร้อมกับดินขุยปูรูอุดตันจากทุ่งนามาผสมทรายเสกและเม็ดแร่บด  และทำการกรองดินจากตุ่มหมักดินกับน้ำ เพื่อให้ได้เนื้อดินละเอียด  ซึ่งบรรดาพระภายในวัดช่วยกันนวดดิน โดยมีหลวงปู่บุญนำผงมาผสมลงในเนื้อดิน กรรมวิธีการนวดดินใช้ไม้ไผ่ตอ ท่อนยาวประมาณ 2 วา ผูกปลายไว้ด้านหนึ่งด้วยหวายก็คันรับช่วงต้นทำเป็นโก่งแล้วคนนวดดินถือปลายอีกด้านหนึ่งกดลงกับดินซึ่งวางไว้ใต้คานไม้มีคนคอยปัดดินเข้าหากัน คนถือปลายไม้ก็มีหน้าที่โก่งกดนวดไปเรื่อยๆ จนได้ดินเหนียวได้ที่แล้วจึงช่วยกันกดพิมพ์ 

     หลังจากกดแม่พิมพ์แล้ว จึงปล่อยให้เนื้อดินแห้งสนิท ระหว่างนั้นหลวงปู่บุญท่านมาคุมอยู่ตลอดเวลา บางครั้งท่านก็หยิบพระที่พิมพ์แล้วมาลงจารด้านหลัง ซึ่งจะพบว่าพระเนื้อดินบางองค์มีจารอักขระลายมือ แล้วถึงนำไปเผาที่ใต้ต้นสมอพิเภกด้านหน้าวิหาร โดยขุดหลุมลงไปในพื้นดินแล้วสุมด้วยแกลบ พร้อมกับปลุกเสกด้วยการเดินกสิณเตโชธาตุลงไป หรือกสิณไฟ โดยเฉพาะยามกลางคืนท่านจะเดินจงกรมรอบเตาเผาที่สุมไว้ทั้งคืน จนพระสุกดีแล้วจึงนำขึ้น และบางทีพระที่เผาเสร็จแล้วท่านก็นำจารยันต์ด้วยเช่นกัน 

พระพิมพ์ปรกโพธิ์เล็กเนื้อดินเผา

   จากนั้นหลวงปู่บุญท่านให้ใส่บาตรเดินเอาไปไว้บนหอสวดมนต์ แล้วหลังจากสวดมนต์แล้วก็จะทำการปลุกเสกอยู่ทุกวันเป็นประจำนานประมาณ 20 ปีติดต่อกัน เพราะพระเครื่องจากหอสวดมนต์ทั้งหมด หลวงปู่ให้นำไปบรรจุกรุที่มณฑปเมื่อปี พ.ศ. 2476 เมื่อรื้อหอสวดมนต์เก่าสร้างซ่อมแซมใหม่ทั้งหลัง จึงได้เคลื่อนย้ายพระเครื่องมาไว้ที่หอสวดมนต์ตลอดเวลา 20 ปีนั้น หลวงปู่ท่านสวดมนต์บนหอสวดมนต์ประจำ เช้า-เย็น และปลุกเสกอยู่เป็นประจำ 

     ในการเก็บไว้ในกรุนั้นหลวงปู่เพิ่มท่านได้บอกว่าได้ไปร่วมสวดบรรจุด้วยทุกครั้งที่มีการบรรจุกรุพระเครื่อง แต่ต่อมากรุได้แตกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 โดยเด็กวัดได้เล่นฟุตบอลไปกระแทกด้านหน้าของซุ้มประตูมณฑป  ซึ่งชำรุดอยู่แล้วจึงทำให้แตกหักขึ้นมา พระเครื่องที่บรรจุไว้ภายในเลยทะลักออกมาล้วนแต่เป็นพระเนื้อดินเผาทั้งหมด และมีอยู่เพียงพิมพ์เดียวคือ “พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่” ด้านหลังเป็นยันต์ปั๊มสี่เหลี่ยม มีอักขระปรากฏในช่องตารางสี่ช่องทั้งหมด และไม่เคยเห็นมีด้านหลังจารอักขระด้วยมือแม้แต่องค์เดียว   ซึ่งพอหลวงปู่เพิ่มทราบเรื่องจึงได้นำพระมาเก็บใส่บาตรไว้ได้ประมาณ 5 บาตร แล้วนำไปเก็บไว้บนหอสวดมนต์ 

พระพิมพ์เศียร์โล้นสะดุ้งกลับเนื้อดินเผา

     ต่อมาพระเครื่องเนื้อดินเผา ปรากฏออกจากกรุอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2516 ขโมยเข้าโจรกรรมพระบูชาภายในมณฑปไปเป็นจำนวนมากและพยายามจะปีนขึ้นไปบนเพดานด้านบนแต่สุดวิสัยจะทำได้ พระภายในวัดได้พบร่องรอยถูกงัดในตอนเช้าจึงนำความไปบอกหลวงปู่เพิ่ม ท่านจึงมอบให้พระปลัดใบคุณวีโร ไปนำพระเครื่องซึ่งใส่บาตรเดินเผา ซึ่งบรรจุไว้บนเพดานมณฑป จำนวน 22 บาตร ลงมาทั้งหมด ซึ่งในครั้งนี้ปรากฏว่าในบาตรดินเผาเหล่านั้นเป็นพระเครื่องหลายเนื้อด้วยกัน มีทั้งเนื้อดินเผาและเนื้อผงผสมว่าน เนื้อโลหะมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ 

     สำหรับสภาพพระเนื้อดินของหลวงปู่บุญนั้นถึงจะมีอายุเกือบร้อยปีแต่วรรณะยังดูสดใสไม่ปรากฏคราบกรุหรือคราบความเก่าปรากฏอยู่เลย จึงขอชี้แจงว่าพระเนื้อดินเผา หลวงปู่ปรากฏพบอยู่ตามบ้านคนทั่วไป ซึ่งเก็บเอาไว้บนหิ้งบูชาอย่างดี พระดังกล่าวผู้ได้รับไปในสมัยหลวงปู่บุญมีชีวิตอยู่มอบให้ไป จึงเก็บรักษาบูชาไว้อย่างดีสภาพพระที่อยู่ตามบ้านชาวนครชัยศรี จึงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกประการ

    หรือในส่วนที่เก็บไว้เมื่อพิจารณาจากสภาพกรุบนซุ้มประตูมณฑปแล้วจะเห็นว่าภายในเป็นห้องสี่เหลี่ยมโบกปูนสนิทแน่นทุกด้าน ไม่มีโอกาสที่น้ำจะไหลหรือซึมเข้าไปได้แม้แต่น้อย ดังนั้นสภาพพระจึงยังคงสมบูรณ์  ซึ่งมาถึงเวลานี้ราคาค่าเช่าก็เขยิบขึ้นสูงหลักหลายหมื่นบาท จะมีเพียงบางรุ่นที่ค่านิยมไม่สูงจึงราคาไม่แพงอยู่แค่หลักพันต้น ๆ เท่านั้น เท่าที่ทราบเห็นจะมีแต่พระพิมพ์ซุ้มเว้าเนื้อดินเผา กับพระพิมพ์กลีบบัวเนื้อดินเผา  แต่พุทธคุณสูงไม่ต่างจากพระพิมพ์ที่ราคาแพง   
     
      มาถึงวันนี้พระเครื่องของหลวงปู่บุญที่สร้างไว้มีหลายรุ่นด้วยกัน โดยเฉพาะเบี้ยแก้ที่ติดอันดับแถวหน้า และเหรียญเจ้าสัวที่่มีชื่อเสียงมานาน พร้อมทั้งพระชัยวัฒน์ที่โดดเด่นไม่เป็นรองใคร เช่นเดียวกับพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่ใครก็อยากได้มาครอบครอง  ต่างก็สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ที่ศรัทธาอย่างมาก สามารถหาเช่ามาบูชาได้ตั้งแต่หลักพัน ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากพระหลักแสน ยกเว้นเบี้ยแก้ที่ราคากระโดดขึ้นสูงระดับหลายหมื่น  แต่อย่างไรก็ตามต้องศึกษากันให้ดีหรือเช่าจากผู้รู้จริงที่น่าเชื่อถือ เพราะเวลานี้พระของปลอมมีวางขายอยู่เต็มไปหมด   
     

แกลเลอรี่ :

คำค้น : หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม , พระหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ,เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ , พระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญ , เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ,ประวัติหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม , พระเกจิอาจารย์ดังจังหวัดนครปฐม , พระเนื้อดินเผาหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , เหรียญเจ้าสัวหลวงปู่บุญ , พระชัยวัฒน์ขี้นกเขาเปล้าหลวงปู่บุญ , พระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูด , พระพิมพ์สมาธิหลวงปู่บุญ , เครื่องรางของขลังเบี้ยแก้หลวงปู่บุญ ,พระพิมพ์ปรกโพธิ์ ,หลวงปู่บุญ , ตะกรุดหลวงปู่บุญ , พระเกจิอาจารย์เก่งจังหวัดนครปฐม ,พระเนื้อผงยาจินดามณีหลวงปู่บุญ , ยาวาสนาจินดามณีหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , พระพิมพ์ไพ่ตองหลวงปู่บุญ , เครื่องรางของขลังเบี่้ยแก้ที่โด่งดัง , เบี้ยแก้อันดับแถวหน้า , เบี้ยแก้ที่มีราคาแพง , รีวิวพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งนครปฐม , ตะกรุดหนังเสือหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว , ตะกรุดโทนหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว